อ่านข่าว

วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การปกครองในสมัยกรุงธนบุรีได้สิ้นสุดลง เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีสติที่ฟั่นเฟือนไปจากเดิม ทำให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกหรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ของกรุงรัตนโกสินทร์ และได้ทรงสร้างราชธานีใหม่ขึ้นอีกที่หนึ่งด้วย อีกทั้ง ยังทรงก่อตั้งราชวงศ์จักรีขึ้นมาให้เป็นราชวงศ์ใหม่ ที่มีการปกครองเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในระยะแรก แต่เมื่อล่วงเลยไปถึงปี พ.ศ. 2475 ระบบการปกครองก็ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยยาวนานมากกว่า 80 ปี สามารถสรุปลำดับของพระมหากษัตริย์ที่ขึ้นครองในราชวงศ์จักรีได้ทั้งสิ้น  9  พระองค์    ดังต่อไปนี้

รัชกาลที่ 1  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขึ้นครองราชย์วันที่ 6  เมษายน พ.ศ. 2325 ถึง วันที่ 6 กันยายน   พ.ศ. 2352
รัชกาลที่ 2  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขึ้นครองราชย์วันที่  7  กันยายน  พ.ศ. 2352 ถึงวันที่  21 กรกฎาคม  พ.ศ. 2367
รัชกาลที่ 3  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์วันที่  21  กรกฎาคม  พ.ศ. 2367 ถึงวันที่ 2  เมษายน  พ.ศ. 2394
รัชกาลที่ 4  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์  วันที่ 2 เมษายน  พ.ศ. 2394 ถึงวันที่ 1  ตุลาคม  พ.ศ. 2411
รัชกาลที่ 5  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระปิยะมหาราช ขึ้นครองราชย์วันที่  1  ตุลาคม  พ.ศ. 2411 ถึงวันที่ 23 ตุลาคม  พ.ศ. 2453
รัชกาลที่ 6  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระมหาธีรราชเจ้า ขึ้นครองราชย์วันที่  23  ตุลาคม  2453 ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.  2468
รัชกาลที่ 7  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์วันที่  26  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2468 ถึงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477
รัชกาลที่ 8  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์วันที่  2  มีนาคม พ.ศ. 2477 ถึงวันที่  9  มิถุนายน  พ.ศ. 2489
รัชกาลที่ 9   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  ขึ้นครองราชย์วันที่  9   มิถุนายน  พ.ศ.  2489 จวบจนถึงปัจจุบัน
ราชธานีของไทยแห่งใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นต่อจากกรุงธนบุรีนั้น มีชื่อว่า “กรุงรัตนโกสิรทร์” หรือ “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมารอวตารสถิต สักกะทัตติยะ วิษณุกรรมประสิทธิ์” มีความหมายว่า พระนครแห่งนี้มีพื้นที่อันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตย์ของพระแก้วมรกต และเป็นพระมหานครที่ไม่มีใครสามารถรบชนะได้ มีความงามอันแสนมั่นคงและเจริญยิ่ง อีกทั้งยังเป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ไปด้วยแก้วเปราะน่ารื่นรมย์ยิ่งนัก นครแห่งนี้เต็มไปด้วยพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย ซึ่งเป็นวิมานของเหล่าเทพผู้อวตารลงมา อันมีท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษนุกรรมลงมาเนรมิตไว้ให้ กรุงเทพมหานครตั้งอยู่ในทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับกรุงธนบุรีที่เป็นราชธานีเดิม โดยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์จักรี ก็คือ “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 และทโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระนครแห่งใหม่นี้ขึ้นด้วย โดยรับสั่งให้พิธีตั้งเสาหลักเมืองของพระนครแห่งใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ เวลาย่ำรุ่งแล้ว 45 นาที

การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 
เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ทรงลงมือกำจัดจลาจลที่เกิดขึ้นในช่วงสิ้นสุดกรุงธนบุรีสำเร็จแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้นมา และได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีด้วย  โดยทรงพระนามให้ตนเองว่า “ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของราชวงศ์อันยิ่งใหญ่ที่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากแต่งตั้งราชวงศ์ใหม่ขึ้นมาแล้ว ในปี พ.ศ.  2325 สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงย้ายราชธานีจากที่เคยตั้งอยู่ที่กรุงธนบุรี มาเป็นฝั่งกรุงเทพฯที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  โดยให้เหตุผลในการย้ายราชธานีดังต่อไปนี้

พระราชวังเดิมของกรุงธนบุรีมีความคับแคบอีกทั้งยังมีวัดขนาบข้างทั้งสอง อันได้แก่ วัดท้ายตลาดหรือวัดโมลีโลกยาราม และวัดอรุณราชวราราม ทำให้ยากต่อการขยับขยายเมือง
ทรงไม่ต้องการให้ราชธานีถูกแม่น้ำเจ้าพระยาแบ่งกั้นออกเป็น 2  ส่วน
พื้นที่ในแถบตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ราบลุ่มซึ่งเหมาะต่อการขยายอาณาเขตของเมืองออกไปได้อย่างกว้างขวางมากกว่า
พื้นที่ในฝั่งธนบุรีมีลักษณะเป็นท้องคุ้ง ซึ่งทำให้น้ำกัดเซาะตลิ่งและพังทลายลงได้ง่าย
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง 4 ข้อ จึงทำให้สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงตัดสินใจสร้างพระบรมมหาราชวังในที่แห่งใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  และโปรดให้สร้างวัดขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง พร้อมอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานคู่บ้านคู่เมืองด้วย  ซึ่งในปัจจุบันก็คือ วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว นั่นเอง

สภาพภูมิประเทศของกรุงรัตนโกสินทร์
ภูมิประเทศของกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ในบริเวณแหลมที่ยื่นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก และมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าให้ขุดคูพระนครขึ้นตั้งแต่บริเวณบางลำภูไปจนถึงวัดเลียบ ซึ่งมีผลให้กรุงรัตนโกสินทร์มีสภาพคล้ายกับเกาะสองชั้น ในขณะเดียวกัน ก็โปรดให้มีการสร้างพระบรมมหาราชวังแบบง่ายๆขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย ส่วนกำแพงของพระนครนั้นก็สร้างจากอิฐของกรุงศรีอยุธยา
และเนื่องจากกรุงรัตนโกสินทร์ มีชัยภูมิในการป้องกันข้าศึกชั้นเยี่ยม ทั้งมีแม่น้ำเจ้าพระยาขวางกั้นทางด้านตะวันตก และมีกรุงธนบุรีที่ดัดแปลงเป็นค่ายคอยต้านข้าศึกเอาไว้ ทำให้พม่าไม่สามารถยกทัพมาบุกกรุงรัตนโกสินทร์ได้เลยสักครั้ง

กรุงรัตนโกสินทร์สร้างแล้วเสร็จอย่างแท้จริงในปี พ.ศ. 2327 และมีการเลียนแบบองค์ประกอบของกรุงศรีอยุธยาเอาไว้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น วัดสุทัศน์ที่เลียนมาจากวัดพนัญเชิญ ดังจะเห็นว่ามีพระบรมมหาราชวังอยู่ริมน้ำ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กรุงรัตนโกสินทร์ยังคงถูกก่อสร้างต่อมาเรื่อยๆ จนเสร็จสมบูรณ์หมดจริงๆในช่วงรัชกาลที่ 3 และช่วงเวลาถัดจากนี้ไปจะเป็นช่วงแห่งการขยับขยายเมืองเสียมากกว่า

ในรัชกาลที่ 4 ทรงริเริ่มขยายพระนครไปทางทิศตะวันออก โดยการขุดคลองผดุงกรุงเกษมขึ้น พร้อมมีการสร้างป้อมแต่ไม่มีกำแพงขึ้นมาด้วย นอกจากนี้ ยังรับสั่งให้มีการตัดถนนเจริญกรุงและพระรามสี่ ทำให้เป็นการกระจายความเจริญออกไปพร้อมๆกับถนน ส่วนในรัชกาลที่ 5 มีการขยายความเจริญตามถนนราชดำเนินไปทางทิศเหนือ พร้อมทั้งมีการก่อสร้างพระราชวังดุสิตขึ้นมา ไม่เพียงเท่านั้น ยังโปรดให้รื้อกำแพงเมืองต่างๆออก เพราะเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีการศึกแล้ว
ความเจริญถูกแพร่กระจายออกไปพร้อมกับวังเจ้านายที่ปลูกสร้างขึ้นไว้นอกพระนคร ทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นทุ่งนากลายสภาพมาเป็นเมืองในที่สุด และในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ได้เพิ่มความเจริญขึ้นมาอีก โดยมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก ที่ชื่อว่า ‘สะพานพระรามหก’ ขึ้นมา ส่วนในรัชกาลที่ 7 ก็โปรดให้มีการสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือ สะพานพุทธ ขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ในการเชื่อมโยงระหว่างฝั่งกรุงธนบุรีกับฝั่งพระนครนั่นเอง และหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 พระนครก็ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นการรวมจังหวัดต่างๆเข้าเป็น ‘กรุงเทพมหานคร’ เมืองหลวงของประเทศไทยในปัจจุบันนั่นเอง

กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  จะหมายถึงกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1  ถึง  รัชกาลที่  3  ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเชื่อมต่อระหว่างประวัติศาสตร์ยุคเก่าและประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ที่มีการพัฒนาประเทศไป ตามอารยธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาติตะวันตก หากกล่าวถึงความรุ่งเรืองในด้านต่างๆในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สามารถแบ่งได้มีดังนี้
การปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ จะไม่เปลี่ยนแปลงจากสมัยอยุธยาเท่าไรนัก กล่าวคือ ยังคงมีพระมหาษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดในการปกครองประเทศอยู่ ส่วนการปกครองส่วนกลาง จะแบ่งลักษณะได้ดังนี้  คือ

อัครมหาเสนาบดีแบ่งออกเป็น 2 ตำแหน่ง ได้แก่
สมุหกลาโหม ถือเป็นหัวหน้าฝ่ายทหาร  และทำหน้าที่ปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้
สมุหนายก ถือเป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน และทำหน้าที่ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ
จตุสดมภ์ แบ่งออกเป็น 4  ฝ่าย  ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การดูแลของสมุหนายก จตุสดมภ์ แบ่งออกเป็น เสนาบดีกรมเมือง เสนาบดีกรมวัง เสนาบดีกรมคลัง และ เสนาบดีกรมนา
ในขณะที่การปกครองส่วนภูมิภาค จะแบ่งหัวเมืองออกได้เป็น  3  ประเภท  ได้แก่ หัวเมืองชั้นใน หรือเมืองจัตวา หัวเมืองชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราช ซึ่งหากเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้จากราชะานี จะต้องมีการส่งเครื่องบรรณาการมาถวายแก่เมืองหลวงปีละหนึ่งครั้ง  ในขณะที่ ประเทศราชที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากราชธานี จะต้องส่งมา 3 ปีต่อครั้ง

กฎหมายที่ใช้ในการปกครองในยุคสมัยนี้ ก็ถือเลียนแบบอย่างจากกฎหมายสมัยอยุธยาและสมัยธนบุรี  แต่ได้นำมาปรับแก้ไขให้ทันยุคทันสมัยขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 1  เรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า “กฎหมายตราสามดวง”  อันได้แก่  ตราราชสีห์  ตราคชสีห์  และตราบัวแก้ว ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ ก็ถูกใช้กันมาอย่างยาวนานจนถึงในสมัยของรัชกาลที่ 5

การศึกษาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีศูนย์กลางอยู่ที่วัด  วัง  และตำหนักเจ้านาย  โดยรัชกาลที่  3  ได้โปรดให้มีการจารึกตำราการแพทย์แผนโบราณเอาไว้ที่วัดพระเชตุพน หรือ วัดโพธิ์ ทำให้วัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็น ‘วัดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย’ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงสมัยที่มีการทำนุบำรุงศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเห็นได้จากการทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎก  การออกกฎหมายสำหรับพระสงฆ์ การสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่สำคัญ  เช่น วัดพระศรีรัตนศาดาราม  วัดสุทัศน์เทพวราราม  และวัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม  เป็นต้น  อีกทั้งในสมัยรัชกาลที่  2  ยังโปรดให้มีการส่งทูตไปศึกษาประวัติทางพระพุทธศาสนาในลังกาอีกด้วย และในครั้งนั้นก็ได้มีการนำเอาหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากลังกากลับมาที่ไทยด้วย  รัตนโกสินทร์จึงถือเป็นยุคสมัยแห่งการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

ในด้านความสัมพันธ์กับต่างชาติ ประเทศไทยในสมัยนั้นก็มีการติดต่อกับประเทศแถบตะวันตกมากขึ้น และได้มีการขยายตัวตามต่างชาติมากขึ้นด้วย  เนื่องจากตรงกับยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมและลัทธิจักรวรรดินิยมพอดี โดยชาติตะวันตกที่มีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่างมาก ได้แก่

โปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกที่เข้ามาติดต่อกับไทยชาติแรก โดยการนำของชาวโปรตุเกส ที่มีชื่อว่า ‘อันโตนิโอ  เอด วิเสนท์ (องตนวีเสน)’ โดยเขาผู้นี้ได้อัญเชิญสาส์นเข้ามาในรัชกาลที่1 และในสมัยรัชกาลที่ 2 ไทยก็ได้มีการส่งเรือเข้าไปค้าขายกับโปรตุเกสที่มาเก๊าด้วย  ความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีเช่นนี้ จึงทำให้โปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เข้ามาตั้งสถานกงสุลในประเทศไทยได้สำเร็จ
อังกฤษเป็นอีกหนึ่งชาติที่เข้ามาผูกไมตรีกับไทย โดยหวังผลประโยชน์ในดินแดนมลายู โดยชนชาติอังกฤษเข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยขอให้ไทยช่วยส่งทหารไปรบกับพม่าและไทยกับอังกฤษก็ได้เริ่มทำสนธิสัญญาฉบับแรกร่วมกัน คือ ‘สนธิสัญญาเบอร์นี’ ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369  ซึ่งสาระสำคัญกล่าวไว้ว่า  ประเทศไทยกับอังกฤษจะมีไมตรีจิตที่ดีต่อกัน และช่วยอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าให้แก่กันและกันด้วย และสนธิสัญญานี้ก็เป็นผลให้ เรือสินค้าที่เข้ามาค้าขายในไทยจะต้องเสีย ‘ภาษีเบิกร่องหรือภาษีปากเรือ’ แทนการเก็บภาษีตามแบบเดิมที่เคยมีมาในอดีต
กรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
ประวัติศาสตร์ไทยช่วงนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ และมีการทำ “สนธิสัญญาเบาริง” ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งที่มาและสาระสำคัญของสนธิสัญญาฉบับนี้ มีดังต่อไปนี้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  ทรงตระหนักได้ถึงภัยจากลัทธิจักรวรรดินิยม ซึ่งกำลังไล่คุกคามประเทศต่างๆในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้น รัชกาลที่ 4 จึงทรงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายมาเป็นการคบค้ากับชาติตะวันตกมากขึ้น  เพื่อความอยู่รอดของประเทศ โดยจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2398  โดยการทำ ‘สนธิสัญญาเบาริง’ กับประเทศอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นโดยมี เซอร์ จอห์น  เบาริงเข้ามาเป็นราชทูตเจรจากับไทย
สาระสำคัญของ ‘สนธิสัญเบาริง’ มีดังต่อไปนี้

อังกฤษขออนุญาตเข้ามาตั้งสถานกงสุลในประเทศไทย
คนอังกฤษมีสิทธิเช่าที่ดินเพื่อทำมาหากินในประเทศไทย
คนอังกฤษสามารถสร้างวัดและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ให้แก่คนไทยได้
มีการเก็บภาษีขาเข้าได้ไม่เกินร้อยละ 3
พ่อค้าอังกฤษและพ่อค้าไทย มีสิทธิในการค้าขายกันได้อย่างเสรี
สินค้าต้องห้าม ได้แก่ ข้าว ปลา  และเกลือ
หากประเทศไทยมีการทำสนธิสัญญากับประเทศอื่นๆที่ได้รับผลประโยชน์มากกว่าอังกฤษ  จะต้องยอมทำให้อังกฤษด้วย
ข้อความในสนธิสัญญานี้ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้จนกว่าจะใช้งานครบ10  ปี  และหากต้องการแก้ไขจะต้องได้รับการยินยอมจากทั้งสองฝ่าย และบอกความต้องการล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี
การสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษฉบับนี้มีผลดีและผลเสียที่ประเทศไทยจำเป็นต้องยอมรับ โดยผลดีที่ไทยได้รับประการสำคัญ คือ การรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ส่วนผลดีด้านอื่นๆที่ตามมา ก็คือ ทำให้การค้าของไทยขยายตัวได้มากขึ้น และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าเป็นแบบเสรีมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการรับเอาอารยธรรมตะวันตกเข้ามาปรับปรุงบ้านเมือง ให้เจริญก้าวหน้าและทันสมัยมากขึ้นด้วย ในขณะที่ผลเสียก็มีไม่น้อยเช่นกัน เพราะไทยจำเป็นต้องเสียสิทธิทางการศาลให้อังกฤษและคนในบังคับอังกฤษ และเนื่องด้วยข้อได้เปรียบด้านนี้ ทำให้อังกฤษไม่ยอมแก้ไขสนธิสัญญากับไทย
ผลจากการทำสนธิสัญญาเบาริง ทำให้ไทยมีสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก และทำให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้าตามแบบอารยธรรมตะวันตกมากยิ่งขึ้น  การเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้

ด้านการปกครอง 
รัชกาลที่ 4 ทรงแก้ไขประเพณีดั้งเดิมบางประการ เพื่อให้ราษฎรมีโอกาสใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มากขึ้น  โดยทรงเปิดโอกาสให้ราษฎรสามารถเข้าเฝ้าหรือถวายฎีการ้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์ได้อย่างสะดวก ส่วนสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้มีการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่  โดยแบ่งเป็น  2  ระยะ  คือ  ‘ระยะการปรับปรุงในระยะแรก’ ที่มีการตั้งสภา 2 สภา ได้แก่ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และ สภาที่ปรึกษาในพระองค์ กับ ระยะที่สองที่เป็น ‘ระยะการปรับปรุงการปกครอง’ ในปีพ.ศ. 2435  โดยการปกครองที่ปรับปรุงโปรดให้มีการปกครองส่วนกลางยกเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ และเปลี่ยนเป็นการแบ่งหน่วยราชการออกเป็น 12 กรม โดยมีเสนาบดีเป็นเจ้ากระทรวงแทน ในขณะที่ การปกครองส่วนภูมิภาค ก็ทรงประกาศให้ยกเลิกการจัดหัวเมืองชั้นเอก  โท  ตรี  และจัตวา ทิ้งเสีย และเปลี่ยนมาเป็นการปกครองแบบเทศาภิบาลแทน อีกทั้งยังทรงโปรดให้มีการรวมเมืองหลายเมืองเข้าเป็นมณฑล และกำหนดให้ข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองมณฑลนั้นๆ โดยขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย  สุดท้ายคือการแบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคให้เป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน  เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปในทั่วทุกพื้นที่

ด้านกฎหมายและการศาล
รัชกาลที่ 4  ทรงโปรดให้ตรากฎหมายขึ้นหลายฉบับ เพื่อทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น  กฎหมายมรดก  สินสมรส เป็นต้น  ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 5  ก็มี “กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์” ผู้เป็นพระบิดาแห่งกฎหมายไทย  เป็นบุคคลสำคัญในการปฏิรูปกฎหมายและการศาลในหลายๆด้าน เช่น การจัดตั้งโรงเรียนสอนกฎหมาย หารตรากฎหมายตามแบบอารยประเทศ การจัดตั้งกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น

ด้านเศรษฐกิจ 
หลังจากที่ไทยทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษแล้ว การค้าของไทยก็เริ่มเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้รัชกาลที่ 4  ทรงเปลี่ยนจากการใช้เงินพดด้วงมาเป็นเงินเหรียญแทน ส่วนในสมัยรัชกาลที่  5  ก็ประกาศให้เปลี่ยนมาตราเงินไทยมาเป็นการใช้ระบบทศนิยม ซึ่งใช้ทองคำเป็นมาตรฐานของเงินตราเป็นหลัก  และโปรดให้มีการใช้เหรียญบาท เหรียญสลึง  และเหรียญสตางค์ ในการจับจ่ายซื้อของแทนเงินแบบเดิม  พร้อมมั้งจัดตั้งธนาคารเอกชนแห่งแรกของประเทศไทยขึ้น มีชื่อว่า  “แบงก์สยามกัมมาจล” หรือปัจจุบันก็คือธนาคารไทยพาณิชย์นั่นเอง

ด้านการศึกษา 
คณะมิชชันนารีอเมริกัน คือ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของไทยให้เป็นไปตามแบบสมัยใหม่ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4  ก็ได้เกิดโรงเรียนชายแห่งแรกขึ้นที่ตำบลสำเหร่  ซึ่งปัจจุบันก็คือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ในขณะที่ โรงเรียนสตรีแห่งแรก ก็คือ โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ซึ่งปัจจุบันก็คือ โรงเรียนวัฒนาวิทยานั่นเอง

หลังจากนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก  โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และโรงเรียนวัดมหรรณพาราม ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรกขึ้นมา ทั้งนี้ก็เพื่อปฏิรูปการศึกษาไทย และเป็นการสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อเข้ารับราชการและช่วยพัฒนาประเทศไทยนั่นเอง   นอกจากนี้ ยังโปรดให้มีการจัดทำแบบเรียนฉบับแรกขึ้นมา ซึ่งถูกเรียบเรียงโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร ยอดนักประพันธ์ที่สำคัญของคนไทยด้วย

ส่วนรัชกาลที่ 6  ก็ได้มีการปรับปรุงการศึกษาให้พัฒนาต่อยอดมากขึ้นไปอีก โดยโปรดให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นมาใช้งานในปี พ.ศ. 2464  รวมทั้งมีการเรียกเก็บเงินค่า “ศึกษาพลี” จากราษฎร เพื่อใช้ในการบำรุงการศึกษาในท้องถิ่นด้วย และสุดท้ายคือการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีชื่อว่า “จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย” ขึ้นมานั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น