อ่านข่าว

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การสถาปนาอาณาจักรธนบุรี

การสถาปนากรุงธนบุรี

ประวัติความเป็นมาของกรุงธนบุรี

เมืองธนบุรี

ในปัจจุบัน เมืองธนบุรีอาจมีฐานะเป็นเพียงเขตเล็กๆ เขตหนึ่งของกรุงเทพมหานคร แต่ในอดีตพบว่าเมืองธนบุรีมีความสำคัญในฐานะราชธานีของไทยในระหว่างปี พ.ศ. 2310 – 2315 แม้ว่าจะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 15 ปี แต่ก็นับว่ามีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังปรากฏโบราณสถานที่สำคัญในสมัยธนบุรี คือ พระราชวังเดิม (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ) รวมทั้งวัดวาอารามต่างๆ เป็นจำนวนมาก ดังนั้นในปัจจุบันเมืองธนบุรีจึงได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาควบคู่กันไป
ความเป็นมา
เมืองธนบุรี หรือ บางกอกในอดีต คือ ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีในปัจจุบัน ซึ่งเคยเป็นแผ่นดินเดียวกันมาก่อน ๆ เป็นที่ราบสามเหลี่ยมปากน้ำเจ้าพระยาที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำเจ้าพระยา และลำคลองต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณ ดังนั้นจึงมีข้อสันนิษฐานว่าคำว่า “บางกอก” นั้นอาจจะเพี้ยนมาจากเดิมว่า “บางเกาะ” ด้วยความที่พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยจากแม่น้ำลำคลองต่างๆ

เดิมแม่น้ำเจ้าพระยาไหลคดเคี้ยวมากตั้งแต่นนทบุรี ลงมายังพระนคร กล่าวคือ แม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลจากทางเหนือ ผ่านเขตเมืองนนทบุรีลงมาถึงสะพานปิ่นเกล้า แล้วไหลวกไปทางตะวันตกเข้ามาทางคลองบางกอกน้อย อ้อมผ่านตลิ่งชัน บางระมาดแล้ววกกลับเข้าคลองบางกอกใหญ่ (หรือคลองบางหลวง) แล้วไหลลงทางใต้ไปออกทะเลอ่าวไทย เป็นลักษณะรูปเกือกม้า ซึ่งความคดเคี้ยวของแม่น้ำนี้ ทำให้สองฟากฝั่งของแม่น้ำกลายเป็นที่ดอนซึ่งเหมาะแก่การตั้งบ้านเรือน และกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งเรียกกันภายหลังว่า “ย่านบางกอก” แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้เสียเวลาในการเดินทางไปมา ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับหัวเมืองชายทะเลตะวันออก

ดังนั้นในสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077 – 2089 ) จึงโปรดให้ขุดคลองลัดบางกอกขึ้น เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ที่ไหลอ้อมเข้าไปทางคลองบางกอกน้อย ออกคลองบางกอกใหญ่ (คือขุดตั้งแต่หน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อย จนถึงหน้าวัดอรุณราชวรารามในปัจจุบัน) การขุดคลองลัดดังกล่าวทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่ จึงไหลไปทางคลองขุดใหม่ และเซาะตลิ่งสองข้างจนกว้างขึ้น กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ (บริเวณที่ผ่านหน้าโรงพยาบาลศิริราช และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกวันนี้) ส่วนลำน้ำเดิมก็ค่อยๆ ตื้นเขินขึ้นลดขนาดลงเป็นลำคลอง ได้แก่ คลองบางกอกน้อย คลองชักพระ (คลองตลิ่งชัน) คลองบางขุนศรี คลองบางเชือกหนัง คลองวัดประดู่ และคลองบางกอกใหญ่ ดังที่เห็นในปัจจุบัน
เมื่อขุดคลองลัดสำเร็จ เมืองบางกอกหรือเมืองธนบุรีจึงถือกำเนิดขึ้น ทางฝั่งตะวันตก หัวมุมคลองบางกอกใหญ่ กลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และได้รับการยกฐานะขึ้น เป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล ทำหน้าที่ป้องกันศัตรูที่จะเข้ามาทางใต้ของกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งตรวจตราจัดเก็บภาษีสินค้าที่ผ่านเข้าออก โดยปรากฏชื่อครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ. 2091 – 2111) ว่า “เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร”แต่โดยทั่วไปนิยมเรียกกันสั้นๆ เพียง “ธนบุรี” ส่วนชื่อ”เมืองบางกอก” นั้นคงเป็นชื่อสามัญ ที่ชาวบ้านและชาวต่างประเทศนิยมเรียก ดังปรากฏชื่อบางกอกในแผนที่และเอกสารของชาวต่างชาติ

เมืองธนบุรีมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในฐานะเมืองหน้าด่านทางทะเล โดยเฉพาะเมื่อการค้ากับต่างประเทศ เจริญรุ่งเรืองขึ้นถึงขีดสุด ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 – 2231) เนื่องจากเป็นเมืองท่าพักเรือต่างชาติ ที่เดินทางขึ้นล่องระหว่างกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงโปรดให้กองทหารฝรั่งเศส ขึ้นมาสร้างป้อมขึ้นทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเพื่อป้องกันข้าศึกซึ่งมาทางทะเล โดยเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เป็นผู้กำกับการสร้าง เมื่อสร้างป้อมเสร็จจึงพระราชทานนามว่า “ป้อมวิไชยเยนทร์” และโปรดเกล้าฯ ให้ทหารต่างชาติทั้งโปรตุเกส และฝรั่งเศสมาประจำที่ป้อม ภายหลังที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคต ป้อมทั้งสองของเมืองธนบุรี (ป้อมฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก) กลายเป็นสมรภูมิรบระหว่างฝ่ายไทย กับกองทหารฝรั่งเศสที่ประจำป้อม ซึ่งในท้ายที่สุดฝรั่งเศสเป็นฝ่ายที่ต้องยอมแพ้ และถอนกำลังออกจากราชอาณาจักรไทย จากนั้นสมเด็จพระเพทราชาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อป้อมบางกอกทางฝั่งตะวันออก โดยให้คงเหลือแต่ป้อมทางฝั่งตะวันตก (ป้อมวิไชยเยนทร์) ไว้เท่านั้น ในคราวกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 พม่าได้ยึดเมืองบางกอกและแต่งตั้งให้นายทองอิน (คนไทยที่ไปเข้ากับฝ่ายพม่า) รักษาป้อมและเมืองบางกอก และหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าทรงกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ จึงโปรดฯ ให้บูรณะเมืองธนบุรีเพื่อใช้เป็นราชธานี
การสถาปนากรุงธนบุรี หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชสำเร็จในปี พ.ศ. 2310 ทรงมีพระราชดำริว่ากรุง ศรีอยุธยามีสภาพทรุดโทรมมาก ไม่สามารถซ่อมแซมฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพเดิมได้ จึงทรงตัดสินพระทัยสร้าง ราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เนื่องจากเมืองธนบุรีมีชัยภูมิที่ดี เป็นเมืองหน้าด่านชายทะเล ควบคุมเส้นทางเดินเรือเข้าออก ประกอบกับเป็นเมืองที่มีป้อมปราการ และวัดวาอารามอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาก่อสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นเมืองขนาดย่อมซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะรักษาไว้ได้ และอยู่ปากแม่น้ำ หากเพลี่ยงพล้ำไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้จริงๆ ก็สามารถหลบหลีกศัตรูออกสู่ทะเล กลับไปตั้งมั่นที่จันทบุรีได้โดยสะดวก อีกทั้งตั้งอยู่บริเวณที่มีลำน้ำลึกใกล้ทะเล ถ้าข้าศึกไม่มี

การสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีจำเป็นต้องขยายพื้นที่เพื่อรองรับประชาชนที่หนีภัยสงครามมา และปรับปรุงให้เหมาะสมทางยุทธศาสตร์มากขึ้น ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเมืองไปทางทิศเหนือจนจรดคลองบางกอกน้อย พร้อมกับสร้างกำแพงเมืองตามแนวคลองขุดใหม่มีชื่อเรียกเป็นตอนๆ ว่า คลองบ้านขมิ้น คลองบ้านช่างหล่อ คลองบ้านหม้อ คลองวัดท้ายตลาด ส่วนทางทิศตะวันออกขยายไปจรดคลองคูเมืองที่ขุดขึ้นใหม่ (ปัจจุบันเรียกว่า”คลองหลอด”) ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางเมืองแล้วสร้างกำแพงเมืองขึ้นตามแนวคลองคูเมือง (กำแพงเมืองนี้ต่อมาได้ถูกรื้อลง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงขยายแนวกำแพงเมืองออกไปตามแนวคลองโอ่งอ่าง และคลองบางลำภู) ส่วนป้อมวิไชยเยนทร์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” พร้อมทั้งให้ขุดที่สวนเดิมเปลี่ยนเป็นท้องนานอกคูเมืองทั้ง 2 ฟากซึ่งเรียกว่า “ทะเลตม” ไว้สำหรับเป็นที่นาใกล้พระนคร

สำหรับขอบเขตของราชธานีแห่งใหม่นี้ ครอบคลุมสองฝั่งน้ำ โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาตัดผ่านกลางเมือง พื้นที่ในกำแพงเมือง ฝั่งตะวันตกเริ่มตั้งแต่เขตเมืองธนบุรี เดิมริมคลองบางกอกใหญ่ ไปจนถึงบริเวณหลังวัดบางหว้าน้อย (วัดอินทาราม) ริมคลองบางกอกน้อย ส่วนฝั่งตะวันออกเริ่มตั้งแต่ศาลเทพารักษ์หัวโชค (เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร) เลียบตามแนวคูเมือง (คลองคูเมืองบริเวณหลังกระทรวงมหาดไทย) ไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด โดยภายในกำแพงเมืองธนบุรีเดิม เป็นที่ตั้งของพระราชวังกรุงธนบุรี

กรุงธนบุรีเป็นราชธานีเพียง 15 ปี หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษก ขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงย้ายราชธานีจากฝั่งตะวันตก มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พระราชวังกรุงธนบุรีว่างลง กรุงธนบุรีจึงถูกลดความสำคัญ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ สำหรับพระราชวังกรุงธนบุรี ได้กลายเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ จนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้กองทัพเรือ ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ และภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือจนถึงปัจจุบัน (สาระน่ารู้กรุงธนบุรี. 2555:ออนไลน์)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น