อ่านข่าว

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พัฒนาการของอาณาจักรธนบุรี

การล่มสลายของอาณาจักรอยุธยา
กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรของคนไทยเป็นระยะเวลายาวนาน 417 ปี (พ.ศ.1893-2310) พระมหากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา คือ พระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 อาณาเขตของกรุงศรีอยุธยาแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางมากที่สุด ในรัชสมัยของพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2133-2148) อาณาจักรกรุงศรีอยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม การค้าขายและการเจริญไมตรีกับต่างประเทศ ในรัชสมัยของพระนารายณ์มหาราช(พ.ศ.2199-2231)

ความเสื่อมของอยุธยา
กรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชให้แก่พม่า 2 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราชเมื่อพ.ศ.2112 และครั้งที่ 2 ในรัชสมัย สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) เมื่อ พ.ศ.2310

สาเหตุการเสื่อมอำนาจของกรุงศรีอยุธยา

* ความเสื่อมอำนาจทางการเมือง มีการแก่งแย่งชิงอำนาจใหม่ในหมู่ขุนนางข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์อยู่เนืองๆ มีการกำจัดศัตรูทางการเมือง ทำให้กำลังทหารถูกบั่นทอนความเข็มแข็งลงไปมาก
* ความอ่อนแอของพระมหากษัตริย์ พระเจ้าเอกทัศน์ทรงขาดความสามารถในด้านการเป็นผู้นำ กองทหารไม่ได้รับการฝึกฝนให้เตรียมพร้อมในการทำศึกสงคราม และมีปัญหาวินัยหย่อนยาน
* การที่ไทยว่างเว้นจากสงครามมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความประมาทในการป้องกันพระราชอาณาจักร ขาดการฝึกปรือกำลังทัพและการวางแผนการยุทธที่ดี ทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพในการทำสงครามป้องกันพระนคร เมื่อพม่ายกกำลังมาล้อมกรุงศรีอยุธยาก่อนจะเสียกรุงใน พ.ศ.2310
* พม่าเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์ไปจากเดิม คือ ยกทัพกวาดต้อนผู้คน สะสมเสบียงอาหารลงมาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือและขึ้นมาจากหัวเมืองฝ่ายใต้ ตัดขาดหัวเมืองรอบนอกมิให้ติดต่อและช่วยเหลือเขตราชธานีได้ และพร้อมที่จะรบตลอดทั้งปี โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก ซึ่งแผนยุทธศาสตร์นี้ต่างไปจากเดิมที่มักจะยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์และ เข้ามาทางเดียว และเมื่อถึงฤดูน้ำเหนือหลากลงมาท่วมก็ยกทัพกลับ ทำให้ไทยวางแผนการตั้งรับผิดพลาดหมด
* กรุงศรีอยุธยาถูกปิดล้อมทางเศรษฐกิจโดยกองทัพพม่า ทั้งจากทางเหนือและใต้ รวมทั้งต้องทำศึกระยะยาวนานนับปี ทำให้กรุงศรีอยุธยาเกิดขาดแคลนเสบียงอาหารอันนำไปสู่ความอ่อนแอต่อกำลังทัพ และผู้คนของไทย

ในขณะที่ไทยกับพม่ากำลังทำสงครามอยู่นั้น พระยาตาก เกิดความท้อใจในการรบ เพราะขาดความคล่องตัวในการตัดสินใจ และสถานการณ์รบที่อยุธยาอยู่ในวิกฤตอย่างหนัก ถ้าหนีไปตั้งหนักที่อื่นก็อาจมีโอกาสกลับมากอบกู้สถานการณ์ได้ ดังนั้นพระยาตากจึงรวบรวมกำลังพลได้ประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมของพม่าไปเส้นทางตะวันออก

สาเหตุที่พระยาตากเลือกเส้นทางตะวันออก

* เส้นทางดังกล่าวปลอดจากการคุกคามของพม่า ทำให้ง่ายต่อการสะสมและรวบรวมทั้งผู้คน , อาวุธและเสบียงอาหาร
* สามารถค้าขายบริเวณหัวเมืองชายทะเลทั้งด้านอาหาร อาวุธ กับพ่อค้าชาวจีนได้

การทำสงครามขับไล่พม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา

หลังจากที่พระยาตากได้ตั้งตนเป็นใหญ่ที่ระยองและจันทบุรี และสะสมเสบียงอาหาร อาวุธ ผู้คนได้มากแล้ว จึงตัดสินใจยกทัพเรือจากจันทบุรีสู่อยุธยาเพื่อกอบกู้เอกราช โดยยกกองทัพเรือเข้ามาถึงสมุทรปราการ แล้ว พระยาตากนำกำลังกองทัพเรือเข้ายึดเมืองธนบุรี เมืองหน้าด่านที่พม่าให้นายทองอิน คนไทยรักษาอยู่ในเดือนพฤศจิกายน
พ.ศ.2310 ซึ่งได้รับชัยชนะโดยง่ายแล้ว พระยาตากก็ยกทัพตามโจมตีกองทัพพม่าไปจนถึงค่ายโพธิ์สามต้น ที่สุกี้พระนายกองของพม่ารักษาการณ์อยู่ และสามารถตีค่ายของพม่าแตก พร้อมทั้งขับไล่ทหารพม่าออกจากอยุธยาและยึดกรุงศรีอยุธยา คืนได้ภายในเดือนเดียวกัน รวมเวลาในการกอบกู้เอกราชเพียง 7 เดือน

พระยาตากปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์

เมื่อขับไล่พม่าออกไปจากกรุงศรีอยุธยาและกอบกู้เอกราชให้แก่คนไทยแล้ว พระยาตากได้เลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานี และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยไม่ทรงเลือกกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีหรือเมืองหลวง

เหตุผลที่ไม่เลือกกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

* ความเสียหายย่อยยับจากสงคราม ยากแก่การบูรณะปฏิสังขรณ์
* มีอาณาเขตกว้างใหญ่เกินกำลังไพร่พลของพระเจ้ากรุงธนบุรีที่จะรักษา
* ข้าศึกรู้เส้นทางเดินทัพ รู้สภาพภูมิประเทศของกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี
* ทำเลที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากทะเลมากเกินไป ไม่สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ

ความเหมาะสมของกรุงธนบุรีเป็นราชธานี

* กรุงธนบุรีเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะกับไพร่พลในขณะนั้น
* ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้ทะเล สะดวกแก่การค้าขายกับต่างประเทศ และสามารถเคลื่อนทัพเรือกลับสู่เมืองจันทบุรีได้สะดวก เมื่อถึงคราวคับขัน
* มีป้อมปราการที่มั่นคงแข็งแรง คือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ และ
ป้อมวิไชยเยนทร์ใช้ป้องกันข้าศึกได้ดี
* ความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหาร มีดินดี น้ำอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ
* ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์เป็นเมืองหน้าด่าน ควบคุมการเดินเรือทะเลที่เข้าออกปากอ่าวไทย จึงเท่ากับช่วยควบคุมหัวเมืองเหนือใต้ให้ต้องพึ่งกรุงธนบุรี ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการซื้ออาวุธจากต่างประเทศ

การสร้างความเป็นปึกแผ่นทางการเมือง

ภายหลังจากสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสร้างความมั่นคง เป็นปึกแผ่นให้แก่ประเทศชาติ ดังนี้

1. การสร้างขวัญและกำลังใจแก่ทหารและประชาชน

* การปูนบำเหน็จแก่แม่ทัพนายกอง โดยเฉพาะสองพี่น้องผู้ที่เป็นกำลังสำคัญคือ พระราชวรินทร์ (ทองด้วง) และพระมหามนตรี(บุญมา)
* การแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยการซื้อข้าวสารและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแจกจ่ายประชาชนที่อดอยากและขาดแคลน กระตุ้นให้ราษฏรที่หลบซ่อนตามป่าเขาให้กลับสู่มาตุภูมิลำเนาเดิม กำลังของบ้านเมืองจึงเพิ่มมากขึ้น

2. การฟื้นฟูบ้านเมืองให้กลับคืนสู่ปกติ

* การรวบรวมกำลังคนให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน สนับสนุนให้ผู้คนที่หลบหนีภัยสงครามตามท้องที่ต่างๆ ให้มารวมกันในราชธานี เพื่อประโยชน์ในการเกณฑ์กำลังคนในยามศึกสงครามและการก่อสร้างราชธานีใหม่
* การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ  ทรงส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการค้าทางเรือสำเภากับจีน มีพ่อค้าชาวจีนเข้ามาค้าขายในไทยมากกว่าชาติอื่นๆ นอกจากนี้ ยังทรงสนับสนุนให้ขุนนางคุมกำลังไพร่พลไปทำนารอบๆ พระนคร เพื่อเพิ่มผลผลิต
* การฟื้นฟูทางสังคม  มีการฟื้นฟูระบบไพร่ที่เคยมีในสมัยอยุธยาขึ้นใหม่ โดยการสักข้อมือไพร่ทุกกรมกองเรียกว่า กฏหมายสักเลก เพื่อประโยชน์ในการเกณฑ์แรงงานและการป้องกันประเทศ และป้องกันการหลบหนีของไพร่อีกด้วย

3. การปราบปรามชุมนุมคนไทย
เพื่อรวบรวมอาณาจักรคนไทยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายหลังที่ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว จึงทรงดำเนินการปราบปรามชุมนุมคนไทยที่ไม่ยอมอ่อนน้อมทั้ง 4 ชุมนุมในช่วงพ.ศ.2311-2313 ดังนี้

* ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก กองทัพธนบุรียกกำลังไปปราบเป็นชุมนุมแรกแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาถูกชุมนุมพระฝางตีแตกและผนวกเข้ากับชุมนุมของตน
* ชุมนุมเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธผู้นำชุมนุมไม่ยอมอ่อนน้อม จึงถูกกองทัพธนบุรีปราบ เป็นผลให้ดินแดนภาคอีสานตกอยู่ภายใต้อำนาจของราชธานีตั้งแต่นั้นมา
* ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช เจ้านครไม่สามารถต้านทานกำลังกองทัพบกและกองทัพเรือจากกรุงธนบุรีได้ อาณาเขตของกรุงธนบุรีจึงแผ่ขยายไปถึงหัวเมืองปักษ์ใต้
* ชุมนุมเจ้าพระฝาง  หัวหน้าชุมนุมเป็นพระสงฆ์ที่ทรงคุณไสยและเป็นชุมนุมสุดท้ายที่ปราบปรามสำเร็จในปี พ.ศ.2313 ทำให้ได้หัวเมืองเหนือไว้ในพระราชอาณาเขต

4. การทำสงครามต่อต้านการรุกรานของพม่า
ตลอดสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีไทยต้องทำสงครามกับพม่า เพื่อป้องกันเอกราชรวมถึง 9 ครั้ง ครั้งที่สำคัญที่สุดคือ ศึกอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ.2318

5. การทำสงครามขยายอาณาเขต
ในสมัยกรุงธนบุรี กองทัพไทยยกไปตีกรุงกัมพูชาเป็นประเทศราชใน พ.ศ.2314 และหัวเมืองล้านนาและลาว ใน พ.ศ.2317

พัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ
1. ภาวะเศรษฐกิจตอนต้นรัชกาล

สภาพบ้านเมืองในตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินต้องประสบปัญหา
ความตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างหนัก  ขาดแคลนข้าวปลาอาหาร การทำไร่ทำนาต้องหยุดชะงักเพราะภัยสงครามซ้ำเกิดการแพร่ระบาดของหนูนาออกมา กินข้าวในยุ้งฉาง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแก้ไขปัญหาดังนี้

* การซื้อข้าวสารจากพ่อค้าชาวต่างชาติ นำมาแจกจ่ายให้ราษฏร
* การเกณฑ์ข้าราชการทำนาปรัง (ทำนานอกฤดูกาล)และประกาศให้ราษฏรช่วยกันกำจัดหนูในนา
* การเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวใกล้พระนคร โดยปรับปรุงพื้นที่ที่เคยเป็นป่าให้เป็นท้องนา

2 การวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
เศรษฐกิจสมัยกรุงธนบุรี เป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพ การทำนาเป็นอาชีพหลักของราษฏรในสมัยนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศดังนี้

* การพัฒนาทางด้านเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอแก่การบริโภคภายในโดยการเกณฑ์แรงงานคนไทย จีน และเชลยศึกสงครามให้ช่วยบุกเบิกพื้นที่ทำไร่ทำนามากขึ้น
* การสร้างความเข็มแข็งทางเศรษฐกิจในหัวเมือง เช่น สนับสนุนให้คนจีน คนลาวไปประกอบอาชีพตั้งถิ่นฐานในหัวเมืองต่างๆ เช่น สระบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ชลบุรีและจันทบุรี เป็นต้น เพื่อให้เกิดการขยายตัวของชุมชน
* การนำความรู้ใหม่ๆ จากชาวต่างประเทศมาใช้พัฒนาความเจริญของบ้านเมือง โดยเฉพาะความรู้จากชาวจีน ที่เข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยสมัยนั้น เช่น ความรู้ในการค้าขาย การช่าง การต่อเรือ และการแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม ทั้งกิจการโรงสี โรงเลื่อยจักรและโรงน้ำตาล เป็นต้น

การส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ มีการส่งเรือสำเภาไปค้าขายยังประเทศจีน อินเดีย และประเทศใกล้เคียง สินค้าที่ส่งออก ได้แก่ ดีบุก พริกไทย ครั่ง ไม้หอม ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของไทย

พัฒนาการทางด้านการเมืองการปกครอง

การจัดระเบียบการปกครองของไทยสมัยธนบุรี ยังคงใช้รูปแบบเดิมที่เคยมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เนื่องจากบ้านเมืองกำลังอยู่ในระยะเริ่มฟื้นตัวใหม่ๆ จึงยังไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ

* การปกครองส่วนกลาง (ภายในราชธานี)มีอัครมหาเสนาบดี 2 ฝ่าย
-ฝายทหาร คือ สมุหกลาโหม
-ฝ่ายพลเรือน คือ สมุหนายก
นอกจากนี้ยังมีเสนาบดีจตุสดมภ์อีก 4 ฝ่าย ได้แก่ นครบาล(กรมเมือง),พระธรรมาธิกรณ์(กรมวัง),พระโกษาธิบดี(กรมคลัง) และพระเกษตราธิการ(กรมนา)
* การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ระดับ คือ หัวเมืองชั้นใน,ชั้นนอก และประเทศราช
-หัวเมืองชั้นใน เป็นเมืองขนาดเล็กอยู่รายรอบราชธานี เจ้าเมืองเรียกว่า “ผู้รั้ง”
-หัวเมืองชั้นนอก เป็นเมืองขนาดใหญ่และอยู่ห่างไกลจากราชธานีออกไปแบ่งออกเป็นหัวเมืองเอก โท ตรี ตามลำดับความสำคัญ
-หัวเมืองประเทศราช เป็นเมืองต่างชาติต่างภาษาให้เจ้านายปกครองกันเองแต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย ได้แก่ ลาว เขมร และเชียงใหม่

พัฒนาการทางด้านศาสนา สังคมและวัฒนธรรม
1. พัฒนาการทางด้านศาสนา

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา บ้านเมืองอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ผู้คนต่างหนีเอาตัวรอด เมื่อพระเจ้าตากสิน ฯ ได้รวบรวมกำลังกู้เอกราชของชาติกลับคืนมาได้จนเป็นปึกแผ่นแล้ว ในปีเดียวกันนั้นคือปี พ.ศ. 2310 ก็ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองเป็นปกติสุขเช่นที่เคยเป็นมาก่อน จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระศรีภูริปรีชา ให้สืบเสาะหาพระเถระผู้รู้อรรถรู้ธรรมให้มาประชุมกันที่ วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) พระเจ้าตากสิน ฯ ได้ทรงตั้งพระอาจารย์ดี วัดประดู่กรุงเก่า ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้สูงและมีอายุพรรษามากด้วย ขึ้นเป็นพระสังฆราช และตั้งพระพระเถระอื่น ๆ ขึ้นเป็นพระราชาคณะฐานานุกรมน้อยใหญ่ เหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยาให้สถิตอยู่ในพระอารามต่าง ๆ ในกรุงธนบุรี ให้สั่งสอนคันถธุระและวิปัสสนาธุระ แก่ภิกษุสามเณรโดยทั่วไป
เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา นอกจากบ้านเมือง ปราสาทราชวัง วัดวาอาราม จะถูกเผาพลาญโดยสิ้นเชิงแล้ว บรรดาคัมภีร์พระไตรปิฎกก็พลอยถูกเผาสูญหายหมดสิ้นไปด้วย พระองค์จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สืบหารวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกที่หลงเหลืออยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ตลอดไปจนถึงกรุงกัมพูชา แล้วเอามาคัดลอกสร้างเป็น พระไตรปิฎกฉบับหลวงไว้ แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน

2. พัฒนาการด้านสังคมและวัฒนธรรม

โครงสร้างทางสังคมไทยสมัยธนบุรีประกอบด้วยชนชั้นต่างๆ ได้แก่
–พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ที่มีพระราชอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน
–พระบรมวงศานุวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ บรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดา
-ไพร่ ได้แก่ คนธรรมดาสามัญที่เป็นชายฉกรรจ์ ส่วนเด็ก ผู้หญิงหรือคนชราถือเป็นบริวารของไพร่
-ทาส หมายถึง บุคคลที่มิได้เป็นไทแก่ตนเองโดยสิ้นเชิง
-พระสงฆ์ เป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา และเป็นผู้อบรมสั่งสอนคนในสังคมให้เป็นคนดี

2.1 สภาพสังคมสมัยธนบุรี เนื่องจากบ้านเมืองตกอยู่ภาวะสงคราม ทางราชการจึงต้องควบคุมกำลังคนอย่างเข็มงวดเพื่อเตรียมสำหรับต้านภัยพม่า มีการลงทะเบียนชายฉกรรจ์เป็นไพร่หลวง โดยการสักเลกที่แขนเพื่อป้องกันการหลบหนี

2.2 การฟื้นฟูพระพุทธศาสนา
สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีความเสื่อมใส ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ทรงฟื้นฟูกิจการพระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจแก่ราษฏร ดังนี้

* การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งพระสังฆราชและพระราชาคณะขึ้นปกครองคณะสงฆ์ และให้มีการชำระความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ทั้งหมด พระสงฆ์ที่มีการประพฤติไม่อยู่ในพระวินัยก็ให้สึกออกเสีย
* การสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ เช่น วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม) วัดแจ้ง(วัดอรุณราชวราราม)และวัดบางหว้าใหญ่(วัดระฆังโฆสิตาราม) เป็นต้น
*  การตรวจสอบและคัดลอกพระไตรปิฏก เพื่อให้พระธรรมวินัยมีความบริสุทธิ์ โดยใช้ต้นฉบับพระไตรปิฏกจากวัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช

2.3 งานสร้างสรรค์ศิลปะและวรรณกรรม

* ความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปแขนงต่างๆ ในสมัยธนบุรีไม่ปรากฏเด่นชัดนัก เนื่องจากบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะสงครามตลอดรัชกาล ความบีบคั้นทางเศรษฐกิจและบรรดาช่างฝีมือถูกพม่ากวาดต้อนไปจำนวนมาก
* งานสถาปัตยกรรม ส่วนใหญ่เป็นงานซ่อมแซมบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ และงานก่อสร้างพระราชวังเดิม
* งานวรรณกรรม ได้แก่ รามเกียรติ์ (พระราชนิพนธ์บางตอนในสมเด็จพระเจ้าตากสิน),ลิลิตเพชรมงกุฏ (หลวงสรวิชิต),และโคลงยอพระเกียรติ์พระเจ้ากรุงธนบุรี(นายสวนมหาดเล็ก) เป็นต้น

3. ด้านการศึกษา

* วัดเป็นสถานศึกษาของเด็กไทยในสมัยธนบุรี พระสงฆ์เป็นผู้สอนให้ความรู้ทั้งด้านหนังสือและอบรมความประพฤติ และเด็กชายเท่านั้นที่มีโอกาสได้เล่าเรียน
* การเรียนวิชาชีพ เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ซึ่งจะถ่ายทอดวิชาชีพตามบรรพบุรุษของตน เช่นวิชาช่างปั่น ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่างทอง เป็นต้น
* การศึกษาสำหรับเด็กหญิง มีการเล่าเรียนการเย็บปักถักร้อย การปรุงแต่งอาหารและวิชางานบ้านงานเรือนสำหรับกุลสตรี ซึ่งถ่ายทอดกันมาตามประเพณีโบราณ มีเฉพาะในหมู่ลูกหลานขุนนางและพระราชวงศ์ ส่วนวิชาหนังสือไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียน

พัฒนาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
1.ความสัมพันธ์กับพม่า

* ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าในสมัยกรุงธนบุรี ปรากฏอยู่ในรูปของความขัดแย้งและการทำสงคราม โดยไทยเป็นฝ่ายตั้งรับการรุกรานของพม่า หลังจากได้รับเอกราชมีการสู้รบกันถึง 9 ครั้ง (พ.ศ.2311-2319)ส่วนใหญ่พม่าเป็นฝ่ายปราชัยต้องถอยทัพกลับไป
* สงครามไทยกับพม่าในสมัยธนบุรีครั้งสำคัญที่สุด คือ
ศึกอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ.2318 ครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรี(ร.1)และเจ้าพระยาสุรสีห์สองพี่น้องได้ร่วมกัน ป้องกันเมืองพิษณุโลก
อย่างสุดความสามารถ แต่พม่ามีกำลังไพร่พลเหนือกว่าจึงตีหักเอาเมืองได้

2. ความสัมพันธ์กับกัมพูชา

* สภาพการเมืองภายในกัมพูชาไม่สงบราบรื่น เจ้านายเขมรมักแตกแยกความสามัคคีและแย่งชิงอำนาจกันอยู่เนืองๆ บางกลุ่มนิยมไทยแต่บางกลุ่มฝักใฝ่กับฝ่ายญวน เมื่อไทยติดศึกกับพม่า เขมรมักตั้งตัวเป็นอิสระและคอยหาโอกาสซ้ำเติมไทยอยู่เสมอ
* ไทยทำสงครามขยายอาณาเขตในดินแดนกัมพูชา รวม 3 ครั้ง กองทัพไทยยกไปตีกรุงกัมพูชาในสองครั้งแรก เมื่อพ.ศ.2312 และ พ.ศ.2314 เป็นผลให้กัมพูชาตกเป็นเมืองขึ้นของไทย
* การจลาจลแย่งชิงอำนาจในหมู่เจ้านายเขมร ใน พ.ศ.2322 พระราชวงศ์เขมรแย่งชิงอำนาจกันเอง สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่1)ยกทัพไปควบคุมสถานการณ์แต่เกิดเหตุวุ่นวายในกรุงธนบุรี พระยาสรรค์ก่อกบฏ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จึงต้องยกทัพกลับ

3. ความสัมพันธ์กับลาว

* ไทยเป็นฝ่ายทำสงครามขยายอาณาเขตในดินแดนลาว 2 ครั้ง ครั้งแรกสงครามตีเมืองจำปาศักดิ์ พ.ศ.2319 เกิดจากลาวก่อกบฏต่อไทย ชัยชนะของกองทัพกรุงธนบุรีครั้งนี้ ทำให้เมืองจำปาศักดิ์และหัวเมืองลาวตอนล่างตกอยู่ใต้อำนาจของไทยตั้งแต่บัดนั้น
* สงครามตีเมืองเวียงจันทน์ พ.ศ.2321 เกิดความขัดแย้งระหว่างเสนาบดีกับเจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ จึงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปปราบเป็นผลให้ลาวตกเป็น
ประเทศราชของไทยทั้งหมด แม่ทัพไทยยังได้อัญเชิญพระแก้วมรกดและพระบางมาไว้ที่ไทยด้วย

4. ความสัมพันธ์กับอาณาจักรล้านนา

* นครเชียงใหม่ ศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา นับตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา เชียงใหม่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าและไทยสลับกัน โดยพม่าใช้เชียงใหม่เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารทุกครั้งที่ยกทัพมาตีไทย
* กองทัพกรุงธนบุรียกไปตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2317 สามารถขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ ล้านนาจึงตกอยู่ใต้อำนาจไทยอีกครั้ง

5. ความสัมพันธ์กับหัวเมืองมลายู

* หัวเมืองมลายูตกเป็นเมืองประเทศราชของไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อันได้แก่ เมืองปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกจึงแยกตัวเป็นอิสระ
* กองทัพกรุงธนบุรีไม่พร้อมที่จะยกไปปราบ เนื่องจากหัวเมืองมลายูอยู่ห่างไกลเกินไป ตลอดรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงปล่อยให้เป็นอิสระ

เหตุการณ์ตอนปลายสมัยกรุงธนบุรี
1. สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีสติฟั่นเฟือน สำคัญว่าพระองค์บรรลุเป็นพระอรหันต์และบังคับให้พระสงฆ์กราบไหว้

2. พระยาสรรค์ ขุนนางผู้หนึ่งก่อกบฏ เมื่อ พ.ศ.2324 ยกกำลังเข้ายึดกรุงธนบุรีและคุมตัวสมเด็๋จพระเจ้าตากสินฯเอาไว้

3. สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กลับจากราชการสงครามที่เขมร เข้าปราบกบฏและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ที่ประชุมขุนนางพร้อมใจกันอัญเชิญให้ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325

4.สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ถูกสำเร็จโทษ ในขณะนั้นทรงมีพระชนม์ 48 พรรษาและรวมเวลาครองราชย์ 15 ปี

อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
แด่ศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม
ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
สมณะพราหมณ์ ปฏิบัติ ให้พอสม
เจริญสมถะ วิปัสนา พ่อชื่นชม
ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา
คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า
ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
พระพุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน

พัฒนาการทางการเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
รัชกาลที่ 1-3 (สมัยฟื้นฟูประเทศ พ.ศ.2325-2394)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2325 และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีใหม่จากกรุงธนบุรีมายังฝั่งตะวันออก(ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้า พระยา)และสร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานีขึ้น ณ ที่แห่งนี้

เหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงย้ายราชธานี

* พระราชวังเดิมของกรุงธนบุรีคับแคบ มีวัดขนาบอยู่ทั้งสองด้าน คือ วัดอรุณราชวราราม(วัดแจ้ง)และวัดโมฬีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) จึงยากแก่การขยายพระราชวัง
* ความไม่เหมาะสมด้านภูมิประเทศ เนื่องจากฝั่งตะวันตกหรือราชธานีเดิมเป็นท้องคุ้ง อาจถูกน้ำกัดเซาะตลิ่งพังได้ง่าย แต่ฝั่งตะวันออก(กรุงเทพ)เป็นแหลมพื้นดินจะงอกอยู่เรื่อยๆ
* ความไม่เหมาะสมในการขยายเมืองในอนาคต พื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มกว้างขวาง สามารถขยายตัวเมืองไปทางเหนือและตะวันออกได้
* กรุงธนบุรีไม่เหมาะทางด้านทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์  กล่าวคือ มีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลาง เปรียบเสมือนเมืองอกแตก เมื่อใดข้าศึกยกทัพมาตามลำน้ำก็สามารถตีถึงใจกลางเมืองได้ง่าย

เมืองหลวงใหม่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
บริเวณ เมืองหลวงใหม่  เดิมเรียกว่า บางกอก หรือปัจจุบันคือกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีใหม่ของไทย สร้างขึ้นโดยเลียนแบบอยุธยา กำหนดพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนคือ

* บริเวณพระบรมมหาราชวัง ประกอบด้วย วังหลวง วังหน้า วัดในพระบรมมหาราชวัง(วัดพระศรีรัตนศาสดาราม)และรวมทั้งทุ่งพระสุเมรุท้องสนามหลวง
* บริเวณที่อยู่อาศัยภายในกำแพงเมือง อาณาเขตกำแพงเมือง ประตูเมือง และป้อมปราการสร้างขึ้นตามแนวคลองรอบกรุง ได้แก่ คลองบางลำภู และคลองโอ่งอ่าง
* บริเวณที่อยู่อาศัยภายนอกกำแพงเมือง เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีบ้านเรือนราษฏรตั้งอยู่ด้านนอกของคลองรอบกรุง มีคลองขุดในรัชกาลที่ 1คือ คลองมหานาค

การปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในสมัยรัชกาลที่ 1-3 พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ การจัดระเบียบการปกครองยังคงยึดถือตามแบบอย่างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีดังนี้

* การปกครองส่วนกลาง มีเสนาบดีทำหน้าที่บริหารราชการ ได้แก่
o สมุหกลาโหม มีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ ทั้งทหารและพลเรือน มียศและราชทินนามว่า เจ้าพระยามหาเสนา ใช้ตราคชสีห์ เป็นตราประจำตำแหน่ง
o สมุหนายก มีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทั้งกิจการทหารและพลเรือนเทียบเท่ากระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน มียศและราชทินนามว่า เจ้าพระยาจักรี หรือเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต ใช้ตราราชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่ง
o เสนาบดีจตุสดมภ์ เป็นตำแหน่งรองลงมา ประกอบด้วย
–กรมเวียง หรือกรมเมือง เสนาบดี คือ พระยายมราช มีหน้าที่ดูแลกิจการทั่วไปในพระนคร
–กรมวัง เสนาบดี คือ พระยาธรรมา มีหน้าที่ดูแลพระราชวังและตั้งศาลชำระความ
-กรมคลังหรือกรมท่า เสนาบดี คือ พระยาราชภักดี, พระยาศรีพิพัฒน์ หรือพระยาพระคลังมีหน้าที่ด้านการเงิน การคลัง และการต่างประเทศ
-กรมนา เสนาบดี คือ พระยาพลเทพ มีหน้าที่ดูแลไร่นาหลวง และเก็บภาษีข้าว
* การปกครองส่วนภูมิภาค หรือการปกครองหัวเมือง
o หัวเมืองฝ่ายเหนือ (รวมทั้งหัวเมืองอีสาน)อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหนายก หัวเมืองฝ่ายเหนือแบ่งฐานะตามระดับความสำคัญ ดังนี้
-หัวเมืองชั้นใน(หัวเมืองจัตวา) อยู่ไม่ห่างไกลจากราชธานี มีเจ้าเมือง หรือ “ผู้รั้ง”เป็นผู้ปกครอง
-หัวเมืองชั้นนอก(เมืองชั้นตรี โท เอก) มีขุนนางชั้นสูงหรือพระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้ปกครอง ได้แก่ เมืองพิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร ฯลฯ
o หัวเมืองฝ่ายใต้ อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหกลาโหม นับตั้งแต่เมืองเพชรบุรีลงไปจนถึงนครศรีธรรมราช ไชยา พังงา ถลาง และสงขลา เป็นต้น มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นนอกทั้งสิ้น
o หัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย เป็นหัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ สาครบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ฯลฯ อยู่ในความรับผิดชอบของพระคลังหรือกรมท่า
* การปกครองประเทศราช
o ฐานะของประเทศราช คือ เมืองของชนต่างชาติต่างภาษา มีกษัตริย์ของตนเองเป็นผู้ปกครอง มีหน้าที่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามกำหนดและส่งทหารมาช่วยเมื่อเมืองหลวงมีศึกสงคราม
o ประเทศราชของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีทั้งดินแดนล้านนา ลาว เขมรและหัวเมืองมลายู ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงแสน หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ เขมร ปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน ฯลฯ

การปรับปรุงกฏหมายและการศาล

* กฏหมายตราสามดวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯให้รวบรวมและชำระกฏหมายเก่าที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และคัดลอกไว้ 3 ฉบับ ทุกฉบับประทับตราคชสีห์ ราชสีห์ และตราบัวแก้ว จึงเรียกว่ากฏหมายตราสามดวง
* กฏหมายตราสามดวง หรือประมวลกฏหมายรัชกาลที่ 1 ใช้เป็นหลักปกครองประเทศมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะมีการปฏิรูปกฏหมายไทยและการศาลให้เป็นระบบสากล

การเมืองการปกครองยุคปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก
การรับอารยธรรมตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 4 ทรงมีโอกาสได้ศึกษาความรู้ในวิทยาการสมัยใหม่ของประเทศตะวันตก ตั้งแต่ในครั้งที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ โดยเฉพาะการศึกษา ภาษาละติน และภาษาอังกฤษ อีกทั้งมีโอกาสได้คุ้นเคยกับพ่อค้าชาวตะวันตก จึงทำให้ทรงทราบสถานการณ์ของโลกในขณะนั้นเป็นอย่างดี

แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เกี่ยวกับสถานการณ์ของโลกในขณะนั้น สรุปได้ 2 ประการ คือ

ความเจริญก้าวหน้าในความรู้และวิทยาการของโลกตะวันตก เป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับบ้านเมือง จึงสมควรที่คนไทยจะได้เรียนรู้ไว้
การเผชิญหน้ากับภัยจากลัทธิจักรวรรดินิยม ประเทศมหาอำนาจตะวันตกกำลังแผ่ขยายอิทธิพลเข้ารุกรานในอินเดีย จีน และพม่าสมควรที่ไทยต้องเร่งรีบปรับปรุงประเทศให้เข้มแข็งและเจริญก้าวหน้า เพื่อป้องกันมิให้ถูกบีบบังคับหรือข่มเหงเหมือนประเทศอื่นๆ
นโยบายของไทยที่มีต่อลัทธิจักรวรรดินิยม

ลัทธิจักรวรรดินิยม คือ การล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก มักจะเริ่มต้นด้วยการติดต่อเข้ามาค้าขายก่อน ต่อมาจึงอ้างความไม่เป็นธรรมที่ได้รับ หรือความล้าหลังด้อยพัฒนาความเจริญของประเทศนั้นๆ และใช้กำลังเข้าควบคุมหรือยึดครองเป็นอาณานิคมในที่สุด การใช้กำลังเข้าต่อสู้มีแต่จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากยิ่งขึ้น ดังนั้น รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 จึงทรงใช้พระบรมราโชบายเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ ดังนี้

* การผ่อนหนักเป็นเบา หมายถึง การโอนอ่อนผ่อนตามให้ชาติมหาอำนาจเป็นบางเรื่อง คือการยอมทำสัญญาเสียเปรียบ จะเห็นได้จากการทำสนธิสัญญาเบาริง ระหว่างไทยกับอังกฤษ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่มาก
* การยอมเสียดินแดน สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ไทยเสียดินแดนให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส ตามนโยบายเสียส่วนน้อย เพื่อรักษาส่วนใหญ่
* การปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัย
เพือมิให้มหาอำนาจตะวันตกใช้เงื่อนไขความล้าหลังด้อยพัฒนาของไทย เป็นข้ออ้างใช้กำลังเข้ายึดเป็นเมืองขึ้น และนำความเจริญมาสู่ชาวพื้นเมืองอาณานิคม เหมือนดังที่ทำกับทวีปแอฟริกา การปฏิรูปความเจริญของบ้านเมืองครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งด้านการปกครอง กฏหมาย การทหาร ฯลฯ
* การเจริญไมตรีกับประเทศมหาอำนาจยุโรป
รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปถึง 2 ครั้ง เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก ช่วยถ่วงดุลอำนาจมิให้ชาติใดชาติหนึ่งมาข่มเหงบีบคั้นไทย จึงเป็นวิธีการรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติอีกทางหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น